วันศุกร์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2558

Social network กับสังคมไทย







อิทธิพลของSocial networkในประเทศไทย
                ในปัจจุบันสื่อประเภทใหม่ที่เข้ามามีอิทธิพลกับสังคมไทยอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีชื่อว่า Social network ทุกคนคงสงสัยว่า Social network คืออะไร แล้วเข้ามีอิทธิพลอย่างไร อย่างที่ปรากฏในข่าวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ มาร์คV11 ผัวยิงเมียเสียชีวิต เพราะ Facebook เป็นเหตุ หรือแม้แต่ประเด็นที่ภาพยนตร์โฆษณาที่ชื่อว่า ขอโทษประเทศไทย โดนแบนห้ามออกอากาศ แต่กลับได้รับความสนใจจาก Social network มีผู้เข้าชมจากวันที่ 17 – 19 กรกฏาคมมากถึงสามแสนคน ซึ่งอิทธิพลของ Social network ในประเทศไทยพึ่งเคยเกิดขึ้นหรือเคยเกิดขึ้นมานานแล้วแต่สังคมไทยไม่เคยที่จะเรียนรู้จากปัญหาที่เคยเกิดขึ้นมาในอดีตหรือเปล่า แล้วมีวิธี แก้ไข ป้องกัน อิทธิพลของ Social network มีหรือเปล่า
               เนื่องจากการใช้งานอินเตอร์เนตที่คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้อย่างง่ายมากและการใช้งานอีเมล์ในการรับส่งข้อมูลกันอย่างแพร่หลายเพิ่มมากยิ่งขึ้นทำให้เกิดการสร้างกลุ่มของคนที่สนใจในเรื่องๆเดียวกันได้เริ่มมีการสร้างเวปไซต์ที่ตอบสนองความต้องการเฉพาะกลุ่มขึ้นมา
              ในส่วนของ Social network ได้เกิดขึ้นจากการสร้างเวปไซต์ของนักเรียนที่เรียนที่เดียวกัน หรืออาจจะเรียกง่ายๆว่าเป็นเวปไซต์ของนักเรียนรุ่นหนึ่ง ซึ่งมีเพื่อสร้างประวัติ ข้อมูล ติดต่อสื่อสาร ส่งข้อความ และแลกเปลี่ยนข้อมูลที่สนใจร่วมกันระหว่างเพื่อนในลิสต์เท่านั้น อาจจะเรียกได้ว่าเป็นต้นกำเนิดของ Social network ซึ่งจากจุดเริ่มต้นเมื่อปี1995 นั้น ทำให้เกิดการพัฒนาเวปไซต์ประเภท Social network อย่างรวดเร็ว(ที่มาhttp://en.wikipedia.org/wiki/Social_network) อีกส่วนหนึ่งที่ทำให้เวปไซต์ประเภท Social network เติบโตอย่างรวดเร็วคือการนำเอารายชื่ออีเมล์ของบุคคลที่เราติดต่อในอีเมล์ส่วนตัวของเรานำไปค้นหาว่ามีใครใช้เวปไซต์ประเภท Social network นั้นหรือไม่ ถ้ามีก็สามารถเพิ่มเพื่อนหรือแอดเข้าไปขอเป็นเพื่อนได้อย่างง่ายดาย
            ประเทศไทยได้มีการเริ่มเข้ามาของเวปไซต์ประเภท Social network โดยทุกคนอาจจะเคยจำได้ว่า www.hi5.com เป็นเวปไซต์ประเภท Social network ที่ได้รับความนิยมในประเทศไทยสูงมาก ซึ่งในช่วงต้นนั้น hi5 ได้รับความนิยมจากกลุ่มนักเรียน นักศึกษา ที่มีความรู้ภาษาอังกฤษเท่านั้นเนื่องจากในช่วงนั้นทาง hi5 มีเมนูเป็นภาษาอังกฤษเท่านั้น ซึ่งต่อมาhi5ได้มีการพัฒนาให้มีเมนูภาษาไทยขึ้นมา ทำให้ hi5 ได้รับความนิยมสูงมากในประเทศไทย มีผู้ใช้เป็นจำนวนมากกว่าหนึ่งล้านคนในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี ซึ่งในยุคนั้นทุกคนก็ให้ความสำคัญกับเวปไซต์ดังกล่าวค่อนข้างมากเพราะหลังจากการได้รับความนิยมที่สูงทำให้เกิดการนำเอา hi5 มาใช้ในการทำผิดกฏหมายในรูปแบบต่างๆ อย่างเช่นที่ปรากฏในข่าว รวบพระขอนแก่นหื่น แชท hi5 ลวงสาวข่มขืน พระหนึ่งให้การรับสารภาพว่า ได้เข้าไปเล่นอินเตอร์เน็ตในโปรแกรม hi5 ก่อนที่จะรู้จัก น.ส.น้ำ ซึ่งเป็นชาว จ.ชัยภูมิ มานานกว่า 2 สัปดาห์ จึงนัดกันมาพบที่ จ.ขอนแก่น และนำเข้าพักภายในวัดก่อนที่จะลงมือข่มขืน จนมาถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจดังกล่าวจับกุมตัว (ที่มา http://hilight.kapook.com/view/21288)ซึ่งในประเทศไทยมีความทรงจำเกี่ยวกับอิทธิพลของ Social network ที่มีชื่อว่า HI5 มาแล้วทุกคนอาจจะลืมไปแล้วว่าHI5ทำให้เกิดปัญหาในสังคมไทยอย่างมากมาย แล้วทุกคนก็มาบอกว่า Facebook กำลังจะบ่อนทำลายสังคมไทย ทั้งที่ทุกคนก็เคยมีประสบการณ์จากในอดีตมาแล้ว แต่สังคมไทยก็ไม่มีการเรียนรู้จากปัญหาที่เคยเกิดขึ้น แต่กลับมากล่าวถึงปัญหาที่เกิดขึ้นใหม่จาก Facebook
            ต่อมาหลังจากการที่กระแสของhi5เริ่มลดลงทำให้กลุ่มผู้ใช้งานเวปไซต์ดังกล่าวได้เปลี่ยนไปใช้งานเวปไซต์www.Facebook.com ซึ่งการเข้ามาของ Facebook ในประเทศไทยเมื่อปี 2006 นั้นเริ่มมีการแพร่หลายในกลุ่มของนักศึกษาที่เรียนอยู่ในต่างประเทศ และเริ่มขยายตัวเข้ามาในกลุ่มนักเรียน นักศึกษา ที่มีความรู้ภาษาอังกฤษเท่านั้นเนื่องจากในช่วงนั้นทาง Facebook มีเมนูเป็นภาษาอังกฤษเท่านั้น แต่ความแตกต่างที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ Facebook มีแอปพิเคชั่นที่หลากหลายมากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับ hi5 ซึ่ง แอปพิเคชั่นที่หลากหลายอาทิเช่นเกมที่มีให้เลือกเล่นมากกว่า หนึ่งร้อยเกม ซึ่งในปัจจุบันเกมที่ได้รับความนิยมในประเทศไทยไม่ว่าจะเป็น Framville ที่สมาชิกของFacebookเรียกกันเป็นภาษาไทยว่า เกมปลูกผัก หรือเกม Café world ที่ได้รับความนิยมสูงมาก ในส่วนของแอปพิเคชั่นที่มีชื่อว่า friend for sale ที่สามารถซื้อเพื่อนของตนเองมาไว้กับตนเองและสามารถสั่งให้ไปทำงานตามที่สั่งได้อย่างเช่นสั่งให้ไปล้างห้องน้ำ ให้ไปแกล้งบุคคลอื่น ยังไม่รวมไปถึงการสนทนาส่วนตัวใน Facebook ที่มีการแชทกันได้ใน Facebook
           Facebook เป็นเว็บไซต์เครือข่ายสังคมเปิดตัวในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2004 และ Facebook ก่อตั้งโดย Mark Zuckerberg ผู้ใช้สามารถเพิ่มคนเป็นเพื่อนและส่งข้อความและ update โปรไฟล์ส่วนตัวของพวกเขาเพื่อแจ้งเพื่อน ๆ เกี่ยวกับตัวเอง นอกจากนี้ผู้ใช้สามารถเข้าร่วมเครือข่าย Facebook ได้พบกับการถูกบล็อกในหลายประเทศรวมทั้งปากีสถาน ซีเรีย จีน เวียดนาม และอิหร่าน Facebook ได้รับการห้ามใช้สถานที่ทำงานเพื่อเป็นการไม่ให้พนักงานสูญเสียเวลาในการทำงาน Facebook ความเป็นส่วนตัวยังเป็นปัญหาและได้รับการโจมตีหลายครั้ง (ที่มาhttp://en.wikipedia.org/wiki/Facebook) ด้วยระยะเวลาเพียง 6 ปี เว็บไซต์นี้ในปัจจุบันมีผู้ใช้งานมากกว่า 400 ล้านทั่วโลก จากการเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วของผู้ใช้งาน Facebook ทำให้เกิดปัญหากับสังคมที่มากขึ้นตามจำนวนของผู้ใช้งาน
          Facebookยังกลายเป็นที่มาของการ เกลียดชัง ทะเลาะเบาะแว้งระหว่างคู่สมรสกันบ่อยครั้งมาก และหลายๆ กรณีก็กลายเป็นเรื่องถึงขั้นฟ้องร้องตั้งแต่เรียกค่าเสียหายเรื่อยไปจนถึง การฟ้องหย่ากันในที่สุด ข้อมูลที่ถูกนำมาใช้มีตั้งแต่ ภาพใน Facebookทั้งของเจ้าตัว และของชายชู้หรือเมียน้อย ในบางกรณี ผู้เป็นสามีอาจบล็อกภรรยาจากการเข้าถึงหน้าFacebookของตนเอง แต่กลับไม่มีการบล็อก Facebook ของผู้เป็นเมียน้อย หรือในบางกรณี ลูกๆ ที่ถูกขอให้จัดการบล็อกหน้า Facebook ให้ก็กลายเป็นพยานชั้นหนึ่งสำหรับการฟ้อง หย่า นอกจากนั้นแล้ว ภาพและข้อมูลใน Facebook ยังนิยมนำมาใช้ในคดีเกี่ยวกับการอ้างสิทธิในการเลี้ยง ดูบุตรอีกด้วย (ที่มาhttp://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1278580032&grpid&catid=06) ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับประเทศสหรัฐอเมริกานั้นเป็นตัวอย่างของการที่ อิทธิพลของFacebook ทำให้เกิดปัญหาสังคม ในประเทศไทยเองก็เริ่มที่จะมีปัญหาในลักษณะเดียวกับในประเทศสหรัฐอเมริกา อย่างในข่าว ผัวยิงเมียเสียชีวิต เพราะ Facebook เป็นเหตุ ผัวหึงโหดเห็นเมียนั่งแชทหน้าคอมฯ กับชายอื่น ระแวงกลัวเมียปันใจ ย่องเข้าบ้านแม่ยายขโมยปืนยิงหัวดับทั้งคู่(ที่มาhttp://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=561&contentID=78758)
          ซึ่งในปัจจุบัน Facebookเริ่มเข้ามามีอิทธิพลในประเทศมากยิ่งขึ้นอย่างเช่นในข่าว นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่ติดใจกรณีที่ มาร์ค V11 นายวิทวัส ท้าวคำลือ ผู้สมัคร เข้าแข่งขันรายการอะคาเดมี่ แฟนเทเชีย ที่วิพากษ์วิจารณ์ตัวเอง ผ่านทางเครือข่ายออนไลน์ Facebook โดยเห็นว่า การถูกวิพากษ์วิจารณ์นั้น เป็นเรื่องที่ปกติ แต่หากมีการใช้ถ้อยคำที่ไม่เหมาะสม ก็เห็นว่า เป็นการไม่สมควร ทั้งนี้หากเจ้าตัวกลับไปคิดและรู้สึกตัวแล้ว ก็เป็นเรื่องที่ดี ซึ่งไม่จำเป็นต้องเข้ามาขอขมา(ที่มาhttp://news.impaqmsn.com/articles.aspx?id=343662&ch=pl1) ซึ่งปัญหาดังกล่าวสิ่งที่นายวิทวัส ท้าวคำลือได้มีการลงข้อความบนกระดาษFacebookของตนองตั้งแต่เมื่อเดือนพฤษภาคม โดยไม่ได้คิดว่าจะมีผลกับตนเองอย่างที่เกิดขึ้น เพราะการลงภาพหรือข้อความต่างๆลงบนFacebookนั้นไม่ได้มีความเป็นส่วนตัวเพราะคนที่เป็นเพื่อนของคุณทั้งหมดสามารถอ่านข้อความต่างๆที่คุณได้ลงเอาไว้บนกระดานของตัวคุณเองรวมไปถึงรูปภาพต่างๆ
           รูปภาพที่มีการนำลงไปในFacebookของแต่ละคนบางภาพอาจจะเป็นภาพที่ไม่เหมาะสม แต่การนำเอาไปลงบนFacebookแล้วนั้นเป็นเผยแพร่ไปสู่คนจำนวนมาก บางครั้งภาพของผู้หญิงที่ดูไม่เหมาะสมอย่างเช่นการถ่ายภาพตนเองกำลังเมาสุรา ภาพของตนเองกับบุคคลอื่นในเชิงชู้สาว ภาพของตนเองนุ่งน้อยห่มน้อย ภาพที่ลงบนFacebookอาจจะกลับมาทำร้ายคุณอย่างที่ มาร์ค V11 นายวิทวัส ท้าวคำลือ ประสบอยู่ก็เป็นไปได้
           ในช่วงที่ประเทศไทยเกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งในช่วงเดือนเมษายนและเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมานั้น Facebook เป็นช่องทางในการสื่อสารที่ทำให้เกิดกระแสในความเข้าใจผิดในเรื่องของข่าวต่างๆไม่ว่าจะเป็นข่าวของฝ่ายใด เพราะมีการบอกต่อกันอย่างรวดเร็วในFacebookว่าเกิดอะไรขึ้นที่ไหนอย่างไร ข่าวที่เห็นบนFacebookถ้าไม่มีlinkของสำนักข่าวที่เชื่อถือได้ ข่าวนั้นก็ไม่น่าเชื่อถือแต่คนทั่วไปนั้นไม่ได้สนใจหลงเชื่อไปกับทุกข่าวที่มีอยู่บนFacebookซึ่งข่าวที่อยู่บนFacebookนั้นแตกต่างกับข่าวของสำนักข่าวต่างๆเพราะทุกสำนักข่าวนั้นจะมีกองบรรณาธิการหรือผู้กรองข่าว(Gatekeeper)แต่ข่าวที่อยู่บนFacebookไม่มีการกรองข่าว ถ้าผู้ใช้งานไม่มีการเช็คข่าวสารก่อนว่าเป็นความจริงหรือไม่ก็จะปักใจหลงเชื่อในข่าวนั้นๆ
           มีการรวมตัวของกลุ่มต่างๆอย่างมากมาย เช่น กลุ่มมั่นใจว่าคนไทยเกิน 1 ล้าน ต่อต้านการยุบสภา กลุ่มอาสาสมัครฟื้นฟูประเทศไทย กลุ่มWatch Red Shirt ศูนย์ปฏิบัติการติดตามผู้ชุมนุมเสื้อแดง ซึ่งกลุ่มต่างๆที่ว่ามามีสมาชิกไม่น้อยกว่าหมื่นคน หรือแม้แต่การวมตัวของกลุ่มคนที่ชื่นชอบนักการเมือง อย่างเช่นของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีที่มีผู้เข้าร่วมถึงสี่แสนคน การรับเข้าร่วมในกลุ่มต่างๆนั้น ผู้ใช้งานส่วนใหญ่เข้าไปเป็นสมาชิกในกลุ่มต่างๆ โดยไม่ได้คิดอะไร แต่ผู้ก่อตั้งกลุ่มนั้นๆก็ใช้ประโยชน์จากการที่มีผู้เข้าร่วมกลุ่ม โดยอ้างถึงว่าภายในกลุ่มนั้นมีผู้สนับสนุนเป็นจำนวนมาก ทุกคนควรจะรับฟังความคิดเห็นของกลุ่มนั้น โดยที่ผู้เข้าร่วมในกลุ่มไม่ทราบว่ามีการกล่าวอ้างถึงกลุ่มที่ตนเองเป็นสมาชิกอยู่
           Facebook ก็เหมือนกันกับสิ่งอื่นที่เปรียบได้กับเหรียญที่มีอยู่สองด้าน ทั้งด้านที่ดีและด้านที่ไม่ดี อยู่ที่การนำมาใช้ของบุคคลนั้น ในด้านที่ดีนั้นตัวผมเองได้เปิด กลุ่ม COM ART BSRU ขึ้นมาเพื่อเป็นสื่อกลางระหว่างอาจารย์ผู้สอน นิสิต นักศึกษา เพื่อเป็นกลุ่มแห่งการเรียนรู้ ทางด้านนิเทศศาสตร์ มีการนำเอาผลงานของนักศึกษามาลงบนFacebook การทำมิวสิควีดีโอ การทำหนังสั้น เพื่อให้นักศึกษาได้มาแบ่งบันความคิดเห็น ให้นักศึกษาใหม่ได้เรียนรู้จากงานของรุ่นพี่ มีการให้คำปรึกษากับนักศึกษาโดยอาจารย์ผู้สอนจะมาตอบทุกคำถาม มีการนำเอางานประกวดที่เกี่ยวข้องมาชักชวนให้นักศึกษาเข้าร่วมงานประกวด เป็นพื้นที่ให้กับนักศึกษาได้มาพบเจอรุ่นพี่ รุ่นน้องเพื่อแนะนำเกี่ยวกับการเรียน กิจกรรม เทคนิคในการทำงานด้านนิเทศศาสตร์ มีการให้นักศึกษาส่งงานผ่านFacebook เนื่องจากนักศึกษาส่วนใหญ่มีFacebook กันอยู่แล้ว ตัวผู้สอนเองควรนำเทคโนโลยีการสื่อสาร ที่มีอยู่มาพัฒนาในการเรียนการสอนให้เพิ่มมากขึ้น
           สุดท้ายแล้ว Facebook ก็ยังอยู่กับสังคมต่อไป และยังคงอิทธิพลกับสังคมไทยเพิ่มมากขึ้น แต่ปัญหาทุกอย่างจะไม่เกิดขึ้นถ้าผู้ใช้งานFacebookมีความคิดยับยั้งชั่งใจในการกระทำใดๆกับFacebook อย่างที่ พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี หรือ ว.วชิรเมธี วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม กล่าวว่า เวลานี้ อยากให้คนไทยใช้สติกันให้มาก เพราะสิ่งที่สังคมไทยขาดไม่ใช่ความรู้ หรือเงินทอง แต่สิ่งที่ขาดอย่างยิ่งคือสติ ความยับยั้งชั่งใจ ความมีเหตุมีผล ดังนั้น คุณธรรมที่จำเป็นที่สุดคืออยากให้คนไทยเจริญสติให้มากที่สุด ซึ่งจะทำให้รู้ว่าควรคิด พูด และแสดงออกอย่างถูกต้องพระมหาวุฒิชัย ยังแนะวิธีปฏิบัติเพื่อให้มีสติสำหรับประชาชนทั่วไป ว่า ควรยึดหลัก 3 ประการ คือ 1.เสพสื่อหลายช่องทาง เพื่อสร้างความยับยั้งชั่งใจและใช้ปัญญารอบด้าน จะได้ไม่ตกเป็นทาสขยะข้อมูล ปฏิกูลข่าวสาร หรือโฆษณาชวนเชื่อต่าง ๆ 2. เมื่อติดตามข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ แล้วต้องสังเกตตัวเองว่าตกไปสู่อารมณ์โกรธ เกลียด อาฆาตพยาบาท ฟุ้งซ่านจนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของความรุนแรงหรือไม่ และ 3. เวลาแสดงออกทางสังคม ถ้าเป็นไปในทางที่สันติก็ถูกต้อง แต่หากเป็นไปในทิศทางที่เบียดเบียนคนอื่นแสดงว่าเป็นความผิดพลาดขาดสติ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น